(สรุปการบรรยาย 2 ชั่วโมง เนื้อหาเน้นๆ จบในหน้าเดียว)
ยาวไปอยากเลือกอ่าน
- 1. จุดเริ่มต้นของช่อง Podcast
- 2. มุมมองต่อ Podcast ว่าจะเป็นแค่กระแสหรือไม่?
- 3. จากการเป็นผู้ผลิตสื่อ มองว่าอนาคตจะเป็นยังไง?
- 4. พูดถึงข้อดี ข้อด้อย
- 5. ช่องรายการของวิทยากร ทำยังไงให้คนติดตาม
- 6. การประชาสัมพันธ์รายการ
- 7. แนะนำวิธีคิด Concept รายการ การริเริ่มสร้างสรรค์รายการ รวมถึงโปรแกรมที่ใช้ในการบันทึกเสียงและการตัดต่อ
- 8. ความยาวที่เหมาะสมของแต่ละตอน ความสม่ำเสมอในการปล่อยรายการ เทคนิคแนะนำทำยังไงให้ผู้ฟังอยากฟังจนจบและคอยติดตาม
- 9. ข้อควรระวังในการเล่าเรื่อง
- 10. ปัญหาที่พบบ่อยๆ ในการ Podcast
- 11. ข้อคิดและผลงาน
- 12. แนะนำอุปกรณ์และราคาสำหรับทำ Podcast จาก ฟิวชั่น ฟาร์ อีสท์
จากงาน Podcast Workshop by Fuzion Far East ต่อยอด Podcast ยังไงให้ปัง และข้อควรระวังที่ต้องรู้ — ด้วยบริษัท ฟิวชั่น ฟาร์ อีสท์ ซึ่งนำเข้าและจัดจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องเสียง ระบบเสียงต่างๆ ทั้งไมโครโฟน เครื่องบันทึกเสียง หรือ recorder, มิกเซอร์, ลำโพง, แอมป์, และอื่นๆ อีกมากมาย ที่ครบครันสำหรับ Content Creator และ Podcaster ค่ะ และเนื่องจาก Podcast ที่กำลังเป็นกระแสและเติบโตขึ้นในปัจจุบันนี้ จึงมองว่าการจัดเวิร์คช้อปน่าจะมีประโยชน์จากการถ่ายทอดความรู้และคำแนะนำของวิทยากรที่มากประสบการณ์ จึงเป็นที่มาของ Podcast Workshop by Fuzion Far East โดยได้วิทยากร คือ คุณหนุ่ม โตมร ศุขปรีชา จากช่อง Decode Podcast และ ทีมงาน The 101.World คุณเอก และคุณฟ้าใหม่ ที่มาบอกเล่าเรื่องราวและขั้นตอนการทำ Podcast ได้ชัดเจนและมีประโยชน์ – ทีมงานจึงได้จัดทำเขียนบทความเพื่อสรุปเนื้อหาภายในรายการ สำหรับผู้ที่สนใจแต่ไม่มีเวลารับชมวิดีโอนะคะ
จุดเริ่มต้นของช่อง Podcast
โดย คุณโตมร เล่าว่า เคยทำรายการ Omnivore มาก่อน ร่วมกับคุณแชมป์ ทีปกร เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว และทำต่อเนื่องอยู่ 2-3 ปี จุดเริ่มคือ เพราะต้องการนำเรื่องที่ไปอ่านไปรู้จักมา เอามาเล่าให้ฟังกัน ซึ่งก็ถือเป็นการจัด Podcast แบบนึงที่มีอีกคนมาคุยด้วยกัน ถกเถียงและต่อยอดความคิดได้ ก็จะสนุกสนานมากขึ้น เป็นเรื่องราวต่างๆ เช่น เรื่อง Introvert ที่ยังไม่ค่อยมีคนพูดถึง และเรื่องที่มนุษย์เรามี Willpower หรือ เจตจำนงเสรีจริงมั้ย หรือเป็นความเชื่อแบบ Determinism ความจริงที่ถูกกำหนดมาแล้ว เคยทำเรื่อง Sapiens ตั้งแต่ยังไม่มีการแปล และได้นิตยสาร GM นำมาตีพิมพ์เป็นเล่มครบรอบปี
— ส่วน Decode podcast เกิดขึ้นมาทีหลัง เนื่องจากคุณแชมป์ต้องไปทำงานที่ต่างประเทศ ก็เลยเกิดรายการ Decode ขึ้น โดยเนื้อหาคือการถอดรหัส ในเรื่องที่มีความสงสัยและสนใจอยากจะหาคำตอบ และยังมี Podcast อีกรายการหนึ่ง ชื่อ Here is How ทำร่วมกับ The Momentum เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่สิ่งต่างๆ นั้นดำเนินไปยังไง มีกลไกเบื้องหลังอย่างไร แบบนี้เป็นต้น
สำหรับ The 101.World ที่ได้คุณเอก และคุณฟ้าใหม่ เล่าให้ฟังว่า เริ่มจากการเป็นเว็บไซต์สื่อความรู้ เป็นประเภทบทความ บทสัมภาษณ์ งานข้อเขียนเป็นหลัก และเริ่มอยากหาช่องทางสื่อสารที่มากขึ้น จึงได้ทำแบบสำรวจ survey และได้รับ feedback หรือความเห็นให้มีการทำ Podcast โดยตอนแรกๆ ก็ได้นำงานเขียนที่เคยทำไว้มาเรียบเรียงใหม่ ในชื่อรายการ 101 In Focus และให้กองบรรณาธิการมาเล่าให้ผู้ที่ติดตามอยู่เดิมได้ฟังกัน และในช่วงต้นปีที่ผ่านก็ได้เริ่มทำ Podcast ที่หลากหลายขึ้น ในเชิงของสังคมวัฒนธรรม, อาเซียน, และสื่อต่างๆ นี่จึงเป็นที่มาของช่อง 101 Podcast
มุมมองต่อ Podcast ว่าจะเป็นแค่กระแสหรือไม่?
สำหรับคุณโตมร ก็ได้นึกย้อนกลับไปที่ Facebook Page ที่เคยทำ ชื่อ Running with podcast คือตอนนั้นเป็นการวิ่งไปฟังไป ตั้งแต่ปี 2015 และก็เป็นช่วงเดียวกับที่ทำ Omnivore จนถึงตอนนี้ ปี 2021 ก็คือเห็นว่า Podcast ไม่ได้หายไป — ซึ่งในตอนนั้นเป็นผู้ฟัง ก็มักจะฟังช่องของต่างประเทศ โดยเพจนี้เป็นการฟังของคนอื่น เช่น TED Radio Hour, Invisibilia, 99% Invisible เป็นต้น แล้วก็มาเล่าให้ฟังว่าเนื้อหามีอะไร ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่ค่อยมีคนฟังหรือรู้จักเท่าไร แต่ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ทำ Omnivore ก็มี Salmon Podcast และ The Standard และ กตัญญู สว่างศรี ที่ทำ Podcast เล่าเรื่องเกี่ยวกับผี ชื่อรายการ ยูธูป และนอกจากจะเชื่อว่า Podcast ไม่ได้มาแล้วหายไป ยังคิดว่าสมัยนี้การทำ Podcast ง่ายขึ้นมาก และหากเป็นเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว การจะนำ Podcast ไปใส่ไว้ที่ platform ไหน ก็ต้องทำทีละอันและรออนุมัติ ต่างจากปัจจุบันที่ทำได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็น Soundcloud, Podbean, Spotify และ อื่นๆ จึงมองว่าจะมีโอกาสที่เกิด Podcast ขึ้นใหม่ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะกับผู้คนทั่วไปที่ต้องการสื่อสารสิ่งตัวเองสนใจออกมาในรูปแบบ Podcast
ในขณะที่ คุณเอก จาก The 101.World ขอเสริมจากพี่หนุ่มว่า Podcast น่าจะคงยังอยู่ ตราบใดที่ยังมีคนเสพเนื้อหา โดยเราจะเห็นว่าช่องต่างๆ ของ Podcast จะมีทางเลือก หรือเรื่องราวต่างๆ มากมาย ทั้งรายการบันเทิงและมีสาระความรู้ — อย่างที่เห็นว่ามีการพัฒนาต่อยอดกันมาตลอดเวลา ในช่วงแรกๆ จะเห็นว่าคนฟังคือกลุ่มวัยรุ่น อายุ 18 – 23 ปี แต่ปัจจุบันมีข้อมูลเพิ่มเติมใหม่ว่าคนอายุ 50 ขึ้นไปเริ่มหันมาฟังกันมากขึ้น จึงมองว่าต่อไปในอนาคตน่าจะมีเนื้อหาที่หลากหลายขึ้น และคนฟังก็จะมากขึ้นตามมาแน่นอน และยังขยายฐานอายุให้กว้างมากขึ้นอีกด้วย
จากการเป็นผู้ผลิตสื่อ มองว่าอนาคตจะเป็นยังไง?
ซึ่งคุณเอกมองว่าในเชิงทางด้านเนื้อหาคงหลากหลายขึ้น และกระจายไปเฉพาะกลุ่มมากขึ้น และกลุ่มคนเล็กๆ ที่มีความสนใจใน Podcast น่าจะเข้ามาทำกันมากขึ้น จากความง่ายในการทำรายการ และไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากมาย – ในขณะที่คุณโตมร ก็มีความคิดว่า ต่อไป Podcast คงจะ hybrid กับช่องทางการสื่อสารอื่นๆ มากขึ้น อาจจะมีการตั้งกล้องถ่ายตัวเองขณะกำลังพูดบันทึกรายการ Podcast ไปด้วย แล้วกลายเป็นเหมือน YouTube Cast หรืออาจไปผสมกับ Clubhouse เพราะมีความคล้ายกันตรงเป็นสื่อที่เน้นเรื่องเสียง โดยอาจจะจัด Clubhouse แบบสด แล้วบันทึกเสียงไว้ (ต้องแจ้งคนในห้องให้ทราบก่อนด้วย) แล้วก็อาจจะเอาไฟล์เสียงนั้นมาตัดต่ออีกทีได้ — ซึ่งคิดว่าต่อไปน่าจะสนุกมากขึ้น จากการทำ Podcast 1 ครั้ง สามารถทำออกไปที่สื่ออื่นๆ ได้หลายช่องทาง และเข้าถึงกลุ่มคนตามแต่ละช่องทางสื่อซึ่งมี audience หรือผู้ฟังและผู้ชมที่ไม่เหมือนกัน ได้มากขึ้น
พูดถึงข้อดี ข้อด้อย
ทางคุณเอก กล่าวว่าข้อดีหลักๆ คือ ทำง่าย ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ใช้อุปกรณ์น้อย ส่วนข้อด้อยนั้น ก็ไม่เชิงว่าเป็นด้อย แต่เนื่องจาก Podcast เป็นสื่อที่เน้นใช้แต่เสียง ก็อาจจะเป็นข้อจำกัดในการสร้างการสื่อสาร ซึ่งในอนาคตอาจจะ hybrid กับสื่ออื่นได้ และเพราะเป็นสื่อที่มีแต่เสียง จึงต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของเสียงค่อนข้างมาก เวลาที่มีการอัดบันทึกเสียงจะต้องคำนึงถึงคุณภาพและเรื่องเล่าที่จะต้องการสื่อสารให้ดี
ทางด้าน คุณโตมร เสนอแนวคิด คือให้ลองมองย้อนกลับไป สมัยเรียนสื่อสารมวลชนที่จะแยกเป็น วิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ แล้วคำถามคือ “อะไรเข้าถึงคนได้เร็วที่สุด” ซึ่งคิดว่าสิ่งที่เร็วที่สุดคือวิทยุ เพราะสามารถพูดได้เลย แต่โทรทัศน์ต้องมีคลิปมีไฟล์ภาพ ซึ่งแม้ปัจจุบันจะเร็วกว่าเมื่อก่อนมากแล้วก็ตาม ในขณะที่หนังสือพิมพ์ต้องนั่งเขียน คิดพาดหัว มีภาพประกอบ คือต้องใช้เวลา ดังนั้นข้อดีของ Podcast ยังคงรักษาข้อดีตามแบบของวิทยุสมัยก่อนได้ ก็คือความเร็ว ความสด ทำได้โดยไม่ต้องหาภาพมาใส่ ไม่ต้องมีทักษะการเขียน เป็นการสื่อสารความคิดและถ่ายทอดออกไปได้เร็ว แต่ข้อจำกัดก็คือ การฝึกการใช้เสียง ที่จะต้องมีการควบคุมเสียงประมาณนึง ต้องรู้ว่าธรรมชาติของเสียงตัวเองเป็นยังไง เพื่อให้จัดรายการให้เข้ากันกับเนื้อหา พูดให้เข้าใจได้ง่าย มีเทคนิคการเล่าเรื่องผ่านน้ำเสียงแบบไหน และการทำให้เนื้อหาดึงดูดมากขึ้นด้วยการใช้เสียงประกอบต่างๆ เริ่มมาตั้งแต่ jingle จะทำยังไงหากไม่มีความรู้เรื่องดนตรีเลย แต่ต้องสามารถหามาใช้ให้ได้ และอีกอุปสรรคคือ หากต้องทำคนเดียว ก็อาจต้องเรียนรู้เรื่องการตัดต่อ เช่น การใช้โปรแกรม Garage Band, Audacity หรืออาจใช้โปรแกรมตัดหนังไปเลย เช่น Premier Pro แต่จากประสบการณ์ การตัดจากโปรแกรมตัดหนังเสียงออกมาไม่ดีเท่า Garage Band – ทีมงานฟิวชั่น ฟาร์ อีสท์ ก็อยากฝากให้ลองพิจารณาถึงข้อดีและข้อจำกัดตามที่ทั้งสองท่านได้แนะนำไว้นะคะ
ช่องรายการของวิทยากร ทำยังไงให้คนติดตาม
เมื่อถามถึงแฟนๆ รายการ Podcast ว่ามาจากไหน ทางคุณเอกและคุณฟ้าใหม่ เล่าว่าเริ่มต้นมาจากคนที่ติดตามเว็บไซต์ และ Facebook page ของ The 101 มาก่อน แต่พอเปิดช่องรายการไปได้สักพัก ตามช่องทางต่างๆ อย่างในแต่ละ platform ก็จะมีคนที่ติดตามอยู่แล้ว เหมือนเป็นการขยายช่องทางออกไป ก็เลยได้จำนวนคนติดตามเพิ่มขึ้น และแต่ละรายการก็พยายามดูว่า category หรือเนื้อหาประเภทไหนที่เหมาะกับรายการ เช่น ถ้าเป็นเรื่อง education หรือการศึกษา ก็จะมีคนที่สนใจในเรื่องนี้มาติดตาม ก็พยายามทำเนื้อหาให้หลากหลายมากขึ้นและต่อเนื่อง
มาทางด้านคุณโตมร เล่าว่า โดยปกติจะใช้ข้อมูลสถิติ จาก Soundcloud และ Anchor จะมีข้อมูลบอกว่าแฟนรายการมาจากไหน เป็นใคร โดยของคุณโตมรส่วนใหญ่เป็น คนไทยในกรุงเทพ และ เป็นผู้ฟังจาก Spotify เยอะ และมักเป็นคนที่สนใจเรื่องความรู้ ที่ในเมื่อก่อน คนไม่รู้ เช่นเรื่อง Multiple Intelligent ที่พูดถึงความฉลาดของมนุษย์มีได้กี่แบบ ซึ่งเมื่อก่อนไม่มีคนพูดถึง หรือเรื่องของ Dunning Kruger Effect ที่เป็นเรื่องของการที่คนจะรู้สึกว่าตัวเองฉลาดกว่าความเป็นจริง หรือเรื่องของ Hubris Syndrome ที่เกี่ยวกับความโอหังคลั่งอำนาจ เป็นอาการของคนที่พอมีอำนาจมากๆ แล้วกลไกในสมองจะสร้าง path way ที่ต่างจากคนทั่วไป ทำให้มีความเห็นอกเห็นใจ หรือ empathy มีความเข้าใจในคนทั่วไปที่ไม่เหมือนคนอื่น ซึ่งเรื่องประมาณนี้เป็นเรื่องที่แปลกและน่าสนใจ และใน Podcast จะมีเรื่องเล่าที่แปลกและไม่เคยรู้มาก่อน มากมายหลากหลาย บางรายการสามารถเล่าและใช้เสียงประกอบจนทำให้คนรู้สึกว่าแม้แค่ฟัง ก็เหมือนอยู่ในเหตุการณ์ เพราะเสียงสามารถกระตุ้นสมองส่วนที่สร้างภาพ ทำให้เกิดภาพในจินตนาการขึ้นมาได้ จึงเป็นจุดที่คนสนใจและเริ่มติดตามเพิ่มขึ้น
การประชาสัมพันธ์รายการ
เมื่อมีการทำรายการ Podcast ย่อมขาดไม่ได้เรื่องการประชาสัมพันธ์ ซึ่งทางคุณเอก ได้เล่าว่าโดยปกติจะมีการแชร์โปสเตอร์ของแต่ละรายการ แต่ละตอน ออกมาตลอด ซึ่งความถี่ประมาณ 2 รายการ/สัปดาห์ และจะมีโปสเตอร์ผังรายการแต่ละรายการออกมาเพื่อให้คนที่ติดตามรายการทราบว่าจะมีตอนใหม่เมื่อไรด้วย และในช่วงที่เริ่มเปิดรายการ จะมีการทำ photo album ว่าแต่ละรายการมีอะไรบ้าง ส่วนช่องทางการแชร์ก็คือ Social Media อย่าง Facebook และ Twitter – ทางด้านคุณโตมร แชร์ประสบการณ์ว่าโดยปกติจะไม่ค่อยได้ทำการประชาสัมพันธ์ แต่ก็จะมีการบอกเล่าทาง Facebook page ส่วนตัว แต่มีความคิดอย่างนึง คือข้อดีของ Podcast จะคล้ายกับ YouTube ก็คือจำนวนยอดผู้ชมจะไม่มีวันลด มีแต่จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นมา และเวลาทำ Podcast พยายามอย่าหยุด เพราะจะเป็นการสะสมผลงานไปเรื่อยๆ และจะมีคนเริ่มฟังมากขึ้น เป็นการสะสมยอดผู้ฟังเรื่องๆ แม้การประชาสัมพันธ์จะมีความสำคัญ แต่หากไม่สะดวกหรือไม่พร้อม ก็ไม่ต้องทุ่มเทตรงนี้มากไปกว่าตัวผลงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า เพราะตัวประชาสัมพันธ์ที่ดีที่สุดก็คือตัวเนื้องานนั่นเอง
แนะนำวิธีคิด Concept รายการ การริเริ่มสร้างสรรค์รายการ รวมถึงโปรแกรมที่ใช้ในการบันทึกเสียงและการตัดต่อ
เริ่มกันที่ คุณเอก จาก The 101 ที่บอกว่าจะต้องมีการวางแผนและ process จากเรื่องเหล่านี้
- Explore คือสำรวจตัวเองว่าอยากทำอะไร อยากเล่าให้ใครฟัง อยากทำแบบไหน
- Construct วิธีคิด ว่าเราจะวางแผนในการทำยังไง
- Execute ตอนอัดจะต้องทำยังไง มีเรื่องคำนึงอะไรบ้าง
- Call attention ดู feedback ต่างๆ เรื่องการโปรโมท ข้อมูลสถิติมีอะไรเท่าไร มี retention แต่ละตอนได้นานแค่ไหน
จากนั้นคุณฟ้าใหม่ ก็อธิบายรายละเอียดไว้ดังนี้
- อย่างแรกคืออยากให้ลืมเรื่อง ชื่อรายการ หรือคิดว่า concept จะเป็นยังไงไปก่อน อยากให้นึกถึงว่า “เราอยากให้ใครฟังก่อน” เช่น เรื่องเพศ วัย ความสนใจ ของผู้ฟัง จะช่วยให้คิดเรื่องชื่อรายการ เรื่องที่จะเล่า และคอนเซ็ปรายการได้ชัดเจนขึ้น และอยากเล่าให้ฟังแบบไหน เช่น การเล่าให้ฟังคนเดียว, หรือการคุยเหมือนเป็นการสัมภาษณ์, อยากคุยเป็นทางการ หรือเม้าท์ๆ เหมือนเพื่อนคุยกัน เป็นต้น
– แตกประเด็น 5 ตอนแรก เพื่อให้รู้ว่ารายการนี้ไปต่อได้แน่ไหม ต่อยอดไปได้อีกแค่ไหน ลองลิสต์ออกมาก่อน จากนั้นสร้างคาแรคเตอร์รายการ ก็คือเราต้องเป็นตัวเองให้มากที่สุด แต่ก็ต้องเข้ากับผู้ฟังด้วย และมากำหนดความยาว ช่วงวัน เวลา และความถี่, รูปแบบและชื่อรายการ, tagline และ jingle ต่างๆ – โดยคุณฟ้าใหม่ก็มีการยกตัวอย่างรายการ “ASEAN บ่มีไกด์” ที่ต้องการเล่าเนื้อหาต่างๆ ของอาเซียนในมุมอื่นๆ ที่คนไม่เคยรู้มาก่อน อย่างเรื่องคาสิโน หรือการเผด็จการ ให้นักเรียนนักศึกษา และผู้ที่สนใจในเรื่องราวของบ้านเมืองประเทศอื่นๆ ในประชาคมอาเซียน โดยต้องการให้มีความ casual หน่อย มีความสนุกมากขึ้น และได้ยกตัวอย่างเนื้อหา เช่น การพูดถึงการเกณฑ์ทหารในสิงคโปร์, เรื่องเผด็จการในฟิลิปปินส์, การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่คนรุ่นใหม่ทนไม่ไหวแล้วในมาเลเซีย เป็นต้น
โดยในการปั้นคาแรคเตอร์รายการ คือดูว่าตัวเราเป็นยังไง ซึ่งจากตัวอย่าง คุณเบน (ผู้ดำเนินรายการ) เคยเรียนที่สิงคโปร์มาก่อน และชอบท่องเที่ยว จึงได้มีการกำหนดภาพให้เหมือนการพาเพื่อนไปเที่ยว พาคนไปเดินทางในมุมใหม่ๆ ทำให้ได้ภาพ mood & tone ของนักเดินทาง และเมื่อได้ภาพที่ชัดเจนมากขึ้น เราจะได้เรื่องภาษาเรื่องเสียง และกราฟฟิกของรายการได้ชัดเจนมากขึ้นตามมา และเป็นที่มาของชื่อรายการ “ASEAN บ่มีไกด์” เป็นเหมือนรายการที่พาไปเที่ยวแบบไม่มีไกด์ทัวร์ เป็นการพาเพื่อนเที่ยว จากนั้นมาดูวิธีการดำเนินรายการ และสร้าง gimmick โดยจะมี 3 ส่วน คือ intro เล่าเปิดรายการ ใช้ gimmick ประมาณว่าให้มีคำศัพท์ที่ต้องรู้ก่อนเดินทาง ที่เกี่ยวกับประเด็นที่จะพูดในแต่ละตอน และทำให้คนฟังรู้และเข้าใจไปตลอดการฟัง — ส่วนที่ 2 คือเล่าเรื่อง และสุดท้ายคือการสรุป และหลังจากวางรูปแบบได้แล้ว ให้คิด tagline พร้อมเตรียมข้อมูลสำหรับตอนแรก และควรมีคิวซ้อม คิวอัดเสียงและตัดต่อ การออกแบบภาพกราฟฟิก และกำหนดวันปล่อยรายการ
– สำหรับการ execute อย่างการอัดบันทึกเสียงและการตัดต่อ จะใช้โปรแกรม เช่น Adobe Audition มีข้อดีคือ มีปลั๊กอินในเรื่องการทำ Podcast เลย เช่น การลด noise หรือการใช้ปลั๊กอินที่ทำให้คุณภาพเสียงคมชัดขึ้น และก็มีการใช้แอพหรือเว็บต่างๆ ที่นำเสียง jingle มาใช้ และการใช้เสียงเอฟเฟค ต่างๆ ซึ่งสามารถหาได้ทั้งแบบ free source และแบบเสียค่าบริการ อย่างเช่น artlist.io จะเป็นแบบเหมาจ่าย และมีเพลงหลายแบบให้เลือกใช้ และหลังจากตัดต่อเรียบร้อยแล้วอาจให้เพื่อนหรือคนรู้จักลองฟังเพื่อดู feedback ก่อนจะดีกว่าทำแล้วปล่อยรายการเลยทันที และทำการสร้างภาพกราฟฟิกของแต่ละตอน ก็ทำตามขนาดและ format สำหรับ platform ที่ใช้
– สุดท้ายคือการโปรโมท โดยสิ่งสำคัญก็คือตัว content ที่น่าสนใจ ซึ่งหากเนื้อหาดีและชวนติดตามแล้ว ก็จะยิ่งมีผู้ฟังเพิ่มขึ้นได้ และยังสามารถนำตอนเก่าๆ ที่เคยทำแล้ว มารีโพสต์เพื่อประชาสัมพันธ์อีกครั้งได้อีกด้วย โดยทาง The 101 มีการนำมารีโพสต์ทาง Twitter และติด hashtag ซึ่งได้ผลตอบรับที่ค่อนข้างดี
มาทางด้านคุณโตมร มองว่าหลักการเรื่องการสื่อสารไม่ต่างกัน อย่างแรกเลยคือ อย่าคิดว่าอยากทำ Podcast เพราะอยากทำ สิ่งสำคัญคือต้องกลับไปสำรวจว่าสิ่งที่เรามี สิ่งที่เราต้องการจะบอกคนฟังคืออะไร อย่างขอพูดถึงเรื่องของ อริสโตเติล ที่เรียกว่า Telos คือ ความเต็มเปี่ยมไปด้วยเป้าหมายที่จะบอก ความอยากที่จะอธิบายเรื่องนี้ให้โลกรู้ เช่น วิเวียน เวสต์วูด (Vivienne Westwood) ที่ไม่ได้อยากเป็นดีไซเนอร์แค่เพราะอยากจะไปเดินพรมแดง ไม่ใช่แค่อยากออกแบบเสื้อผ้าเพื่อให้ได้อยู่ในแวดวงแฟชั่น แต่เพราะวิเวียนเป็นคนชนชั้นแรงงาน ที่อยากให้คนชนชั้นสูงใส่เสื้อผ้าแบบชนชั้นแรงงานดูบ้าง ความต้องการที่จะเล่าและสื่อสารออกไป จึงผลักดันให้คนๆ นึงทำอะไรขึ้นมาสักอย่าง คือการมี purposefulness จะต้องมีความต้องการที่จะทำต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากจุดตั้งต้นที่กล่าวมาแล้ว ว่าเราตั้งใจจะทำอะไร อย่างที่สองคือ audience หรือ คนฟัง ซึ่งสำคัญมาก ต้องคิดว่าคนที่ฟัง Podcast ของเราเป็นใคร มีบุคลิกยังไง หรือศัพท์ทางการตลาดเรียกว่ามี persona ยังไง เขาเกิดที่ไหน พูดแบบไหน กินอะไร ชอบอะไร ชอบสีอะไร แบบนี้ เพราะสื่อ Podcast เป็นสื่อที่ intimate มาก ใกล้ชิดมากๆ เพราะฉะนั้นต้องคิดให้ได้ว่าคนที่ฟังเป็นแบบไหน จากนั้นจึงย้อนกลับมาที่ intention และ persona ของตัวเอง ว่าเป็นอย่างไร – อย่างเรื่องเสียงของตนเองเป็นยังไง และสอดคล้องกับผู้ฟังที่เราตั้งไว้หรือไม่ ให้เป็นเรื่องเบื้องต้นที่ค่อยๆ หาไป ไม่ต้องรีบร้อน ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยน persona ได้ในอนาคตหากพบว่ามีเนื้อหาใหม่ที่น่าสนใจใหม่ๆ
ส่วนเรื่องการใช้โปรแกรมในการทำ Podcast คุณโตมร ได้แนะนำสำหรับมือใหม่ ก็คือ “Anchor by Spotify” เป็นโปรแกรมที่ง่าย โดยสามารถ record ในโปรแกรม และมีไฟล์เสียงเอฟเฟคที่เป็น default พวก transition หรือ interlude ให้ใช้ได้เลย สามารถเลือกไมค์ที่ใช้ได้ และอัดเสียงได้มากสุด 30 นาที โดยนำมาต่อกันได้ภายหลัง และยังสามารถใส่ background music หรือเพลงประกอบคลอๆ ไปได้อีกด้วย ซึ่งหลังจากทำเสร็จทุกขั้นตอนแล้วก็จะมีให้กด publish ได้เลย โดยโปรแกรมจะส่งไปที่ Spotify, Apple Podcast และ platform อื่นๆ ได้โดยอัตโนมัติ (หากลิ้งเอาไว้แล้ว)
และสำหรับใครที่พอจะมีพื้นฐานมากหน่อย สามารถใช้ GarageBand ได้ (สำหรับคนที่ใช้ MAC) ที่สามารถแยก track เป็นเสียงพูดกับเสียงดนตรีได้ ซึ่งสามารถทำงานและตัดต่อได้ละเอียดมากกว่า Anchor แต่เวลาจะเอาไฟล์จาก GarageBand ไปลงใน platform ต่างๆ อาจจะมีขั้นตอนเยอะกว่า โดยต้องไปอัพโหลดเองในแต่ละ platform แต่ในบางครั้งก็ใช้เสียงจาก GarageBand ไปอัพโหลดใน Anchor อีกทีเพื่อความสะดวกในการแชร์ไปยัง platform ต่างๆ
นอกจากเรื่องของโปรแกรมที่ใช้งานแล้ว ก็อยากจะแนะนำให้อยู่ในที่เงียบ และควรใช้ไมโครโฟนดีๆ สักตัว แม้ว่าจะไมค์ของ iPhone หรือคอมพิวเตอร์ จะพอใช้ได้แล้วก็ตาม แต่คุณภาพเสียงที่ออกมาจะไม่ดีเท่าการใช้ไมโครโฟน
ความยาวที่เหมาะสมของแต่ละตอน ความสม่ำเสมอในการปล่อยรายการ เทคนิคแนะนำทำยังไงให้ผู้ฟังอยากฟังจนจบและคอยติดตาม
คุณโตมร ให้ความเห็นว่าเรื่องความยาวต้องแล้วแต่เนื้อหา ในบางเรื่องต้องอธิบายเยอะ แต่ส่วนใหญ่คนฟังจะพอรู้และเข้าใจว่ารายการยาวประมาณเท่าไหร่ ตามแต่ละประเภทของเนื้อหา เช่น Ted Radio คนฟังจะพอรู้ว่าความยาวประมาณ 1 ชม. เพราะเป็นการเล่าเรื่องของประสบการณ์ครั้งละ 2 – 3 คน แต่โดยปกติเนื้อหารายการควรจะประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง – ส่วนเรื่องการปล่อยรายการตอนใหม่ อาจจะไปคำนึงถึงตอนที่จะประชาสัมพันธ์ว่าจะมีตอนใหม่มากกว่า เช่น การโพสต์ Facebook หรือ Twitter ก็อาจต้องมาดูสถิติกันอีกทีว่ากลุ่มผู้ฟัง มีการเข้าชม Facebook หรือ Twitter ช่วงไหน ก็ประชาสัมพันธ์ช่วงนั้น ทำให้เป็นประจำสม่ำเสมอ คนฟังจะรู้และเริ่มติดตามในเวลานั้นๆ
ส่วนทางทีมงาน The 101 ให้ความเห็นเพิ่มเติมในเรื่องความยาวที่สอดคล้องเห็นด้วยไปกับคุณโตมร ซึ่งขึ้นอยู่กับเนื้อหา โดยปกติของทาง The 101 เองจะอยู่ที่ประมาณ 20 – 40 นาที และในเรื่องความถี่ จะพยายามสื่อสารกับคนฟังให้คาดได้ว่ารายการนี้จะปล่อยช่วงไหน เช่น ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน –อาจจะต้องลองดูที่ feedback ก่อน ว่าคนฟังอยากฟังอะไร คุณภาพของเนื้อหา และเสียงเป็นอย่างไร ตัวอย่างของ The 101 ก็เคยมีคอมเม้นเข้ามาว่าเสียงไม่ค่อยดี ก็เลยลองไปดูข้อมูลหลังบ้านที่จะมีกราฟบอกว่าคนเข้ามาและออกไปช่วงไหน และตรงกับ feedback ที่ได้รับมาไหม หรืออาจจะเห็นว่าคนออกช่วงตอนกลางเรื่อง อาจหมายถึงว่าเราเล่ายาวไปหรือไม่ค่อยสนุกหรือปล่าว ก็ต้องค่อยๆ ปรับไปเรื่อยๆ แต่คิดว่าทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วก็มีความเชื่อมั่นในการวาง concept ของเรื่องแต่แรก จะช่วยทำให้การเล่าเรื่องน่าสนใจได้
และคุณโตมรก็ได้เสริมอีกว่า อาจต้องไปดูว่าตอนไหนคนฟังเยอะมากน้อย แล้วต้องวิเคราะห์ว่าที่คนฟังน้อยเพราะอะไร อาจจะเป็นที่เทคนิคอย่างเรื่องเสียงก็ได้ อาจไม่ใช่ที่เนื้อหาอย่างเดียว อย่างเช่น Facebook จะจำกัด Reach สำหรับ Live Stream หรือ วิดีโอ ที่มีความสว่างหรือแสงน้อย ซึ่งหากการ Live Stream นั้นมีแสงหรือความสว่างเยอะ จะทำได้ Reach มากกว่า เพราะ Facebook ตีความว่าภาพที่มีแสงสว่างน้อยมีคุณภาพต่ำกว่าแสงเยอะ ซึ่ง Podcast ก็อาจจะเป็นเช่นเดียวกัน คือปัจจัยในแง่ของเทคนิค เป็นเรื่องของเสียง ที่อาจดังไปหรือเบาไป ส่วนการที่จะ keep คนฟังให้อยู่กับเรา ก็คือความสม่ำเสมอ เพราะคนฟังจะคอยติดตามและจะรอเข้ามาฟังว่ารายการเราจะมาช่วงไหน
ข้อควรระวังในการเล่าเรื่อง
คุณเอก The 101 ได้ให้ความเห็นว่าการทำ Podcast สามารถใช้หลักการของสื่อสารมวลชนทั่วไปได้เลย อย่างการพูดถึงผู้อื่น หรือการพาดพิงถึงบุคคลอื่น ก็อาจจะใช้เรื่องของ consent หรือความยินยอม โดยอาจให้บุคคลที่สามที่เราพาดพิงถึงยินยอมมาก่อน หรือเรื่องเนื้อหา ถ้ามีการนำงานชิ้นไหนมาก็ควรมีการอ้างอิงถึง และไม่ควรนำมาทั้งหมด เพราะหากมีการนำมาใช้ทั้งหมดก็อาจจะกลายเป็นการคัดลอกผลงานได้ หรือหากมีการทำเนื้อหาในเชิงการเมือง ก็ต้องระวังการพาดพิงถึงบุคคลอื่นที่ไม่ได้มานั่งคุยด้วยกัน เพราะเท่ากับเขาไม่มีโอกาสได้โต้แย้งกรณีหากเกิดความเข้าใจผิดกันได้ – อย่างของ The 101 ที่มีเรื่องของไสยศาสตร์และการเมือง ซึ่งจะเล่าเรื่องในประวัติศาสตร์ ที่เป็น fact เป็นความจริง จะไม่ได้มีการวิจารณ์หรือใส่ความรู้สึกลงไป จะมีการเอา fact นั้นมาประกอบการตั้งสมมุติฐานต่างๆ ไม่ได้ใส่ความเห็นของเราลงไป เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจและเหลื่อมล้ำกัน
สำหรับคุณโตมร ก็กล่าวว่ามีความเห็นเหมือนกับทีมงาน The 101 ที่ต้องมี consent และไม่พาดพิงกล่าวหาผู้อื่น แต่ก็จะมีในบางกรณี อย่างเช่นจากที่มีประสบการณ์ตอนอยู่ที่ OKMD จะมีการประกวดคลิป และหลายๆ คนจะมีการใช้เสียงเพลง หรือเสียงเอฟเฟคเล็กๆ น้อยๆ มาประกอบ โดยที่อาจจะไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ YouTube จะสามารถจับได้ว่าติดลิขสิทธิ์อยู่ ก็อาจต้องระวังอาจมีคนมาร้องเรียนฟ้องร้องได้ และอีกเรื่องในส่วนของการอ้างอิง ที่อาจจะนำเรื่องของคนอื่นมาเล่า และแม้จะอ้างอิงถึง แต่เนื้อหานั้นก็จะกลายเป็นแค่การเอาเรื่องจากบทความหรือข่าวมาเล่าเฉยๆ ก็จะไม่ค่อยมีความเป็นตัวเองเข้าไปด้วย ก็อาจจะทำให้เนื้อหายังไม่น่าสนใจมากพอ แต่หากมีการใส่ความเห็นตัวเองลงไปด้วย ก็ต้องระวังในการพูดไม่ให้ไปพาดพิงหรือกระทบสังคมได้ – จะมีคำว่า ‘ความรัดกุม’ ในการพูดถึง คือหมายถึงว่า เราเห็นความเป็นไปได้ทั้งหลายของเรื่องนั้นๆ แล้วเราก็นำเสนอที่ชี้ให้เห็นว่าสิ่งนั้นอาจจะไม่เป็นแบบนั้น 100% แต่เราก็จะไม่ตัดสินว่าจะต้องเป็นแบบนี้หรือแบบนั้นเช่นกัน
ปัญหาที่พบบ่อยๆ ในการ Podcast
คุณฟ้าใหม่ เล่าว่า ปัญหาหลักๆ ก็เรื่องเสียง อย่างช่วงที่ไม่ได้เข้าบริษัท ก็จะไม่ได้อัดเสียงในสตูดิโอ จะใช้มือถืออัดเสียงกัน คุณภาพเสียงที่ได้ก็ไม่ดีเท่าที่อัดในสตูดิโอ จึงต้องหาวิธีแก้ปัญหากัน โดยเอามาตัดต่อเอา noise ออก และเพิ่มความคมชัด ซึ่งก็จะเป็นการทำงานที่มีหลายขั้นตอนเพิ่มขึ้นและใช้เวลามากขึ้น
ส่วนทางคุณโตมร ได้แชร์ประสบการณ์ว่ามีปัญหาเรื่องเสียงฝนมากที่สุด ซึ่งควบคุมไม่ได้ และเสียงฝนตกฟ้าร้องคือทำให้แทบทำอะไรไม่ได้เลย แต่อย่างกรณีเสียงก้อง ถ้าไม่ได้เข้าสตูดิโอ ก็อาจไปทำการบันทึกเสียงในรถแทน ซึ่งก็เก็บเสียงรบกวนได้มากพอสมควร และถ้าอยากให้เสียงคมชัดขึ้นก็ต้องเอาผ้านวมมาคลุมเพิ่ม และห้ามเปิดแอร์ ซึ่งก็จะมีปัญหาคือร้อนและไม่ค่อยมีอากาศ ทำให้เวลาพูดก็จะพูดได้ไม่นาน ต้องใช้เวลาในการบันทึกเสียงแต่ละครั้งค่อนข้างนาน
ข้อคิดและผลงาน
คุณโตมร กล่าวว่า Podcast เป็นทักษะหนึ่ง เหมือนการวิ่ง ยิ่งวิ่งเยอะก็ยิ่งเก่ง การจะทำ Podcast ถ้าเริ่มทำแล้วก็อยากให้ทำไปเรื่อยๆ ให้ต่อเนื่อง เราก็จะเก่งขึ้นได้อีก – สำหรับผลงานที่อยากจะฝากไว้ ก็คือทาง OKMD ร่วมกับ The Matter กำลังสร้าง Podcast ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการการเรียนรู้ หรือ learning process ชื่อว่า The Ex-Ped คือเมื่อเป็ดผ่านกระบวนการเรียนรู้ก็กลายเป็น expert รอติดตามได้เร็วๆ นี้
และทางทีมงาน The 101 ฝากข้อคิดว่า ให้คิด ทำ มั่นดู feedback ดูว่างานที่คิดออกมาสามารถพัฒนาต่อได้มั้ย จากนั้นก็ลงมือทำ และคอยพัฒนางานต่อไป – และขอฝากเว็บ “The101.World” เป็นเว็บสื่อความรู้สร้างสรรค์ ที่นอกจากมีงาน Podcast ก็ยังมีงานอื่นๆ อีกด้วย
ส่วน ทีมงาน ฟิวชั่น ฟาร์ อีสท์ ก็ขอฝากให้ติดตามข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ ที่เกี่ยวกับอุปกรณ์และระบบเสียง และสนับสนุนให้กำลังใจทีมงานกันต่อไปนะคะ
แนะนำอุปกรณ์และราคาสำหรับทำ Podcast จาก ฟิวชั่น ฟาร์ อีสท์
และแน่นอนค่ะ นอกจากเรื่องราวที่มีประโยชน์จากประสบการณ์ตรงของวิทยากรที่เราเชิญมานี้แล้ว เรื่องของอุปกรณ์ในการทำ Podcast ให้ออกมาได้คุณภาพเสียงที่ดี ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เราจะมาแนะนำอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะช่วยให้ Podcast มีเสียงใสคมชัด ฟังลื่นหูแน่นอน กันค่ะ
- RODE VideoMic Me 2,800 บาท
- RODE VideoMic NTG 12,100 บาท
- RODE smartLav+ 3,000 บาท
- Apogee ClipMic Digital II 9,400 บาท
- Apogee Mic Plus 12,300 บาท
- Apogee Hype Mic 16,500 บาท
- RODE Ai-1 + RODE Podmic 10,900 บาท
- Zoom U-24 + Zoom ZDM-1PMP 12,200 บาท
- RODE Podcaster9,700 บาท
- RODE NT-USB Mini 5,200 บาท
- Zoom PodTrak P4 + ZDM-1PMP 14,900 บาท
- Zoom H8 19,100 บาท
- RODE NT-USB Mini + RODE Connect Software 5,200 บาท
- RODE Caster Pro + RODE Procaster 42,600 บาท
- Zoom PodTrak P8 + Zoom ZDM-1PMP 29,800 บาท
Stay Connected
Sign up below to stay up to date with what we are up to!
———-
#PUKKABRANDS
#ตรงงาน
#ตรงเวลา
#ตรงใจ
———-
🎉🎈🎛🔈🎙️📽️🎬🎈🎉
Line ID: @fuzion
Tel: 02-641-4545
Email: [email protected]
———-
Facebook: Fuzion Far East
Fuzion Facebook Group: Fuzion Privilege Group
Youtube subscribe: fuzionfareastbkk
Instagram: fuzionbkk