เจาะลึกงาน Sound Engineer ทำหน้าที่อะไรบ้าง ต้องเรียนจบอะไรมา?

“เสียง” คือ แนวทางการสื่อสารในระดับพื้นฐานที่ทำให้ทุกคนเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นเสียงร้องเพลง เสียงพูด เสียงดนตรี และเสียงสังเคราะห์ต่างๆ ล้วนผ่านการประดิษฐ์เพื่อให้เป็นที่เข้าถึงและเข้าใจต่อกลุ่มเป้าหมายได้ ซึ่งเบื้องหลังการควบคุมเสียงตามสื่อต่างๆ ที่ทุกคนได้ยินนั้น มีเหล่า Sound Engineer คอยอยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์ทั้งหมด วันนี้ Fuzion Far East จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับตำแหน่ง Sound Engineer ให้มากขึ้นว่า หลักๆ แล้วพวกเขาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง ถ้าอยากทำงานสายนี้ควรเริ่มต้นอย่างไร หาคำตอบได้ในบทความนี้เท่านั้น 

Sound Engineer คืออะไร

Sound Engineer หรือในภาษาไทยเรียกว่า วิศวกรเสียง คือ ตำแหน่งของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเสียงโดยเฉพาะ มีหน้าที่จัดการเสียงในบริบทต่างๆ ทั้งการปรับแต่งโทนเสียง การนำเสียงมาประยุกต์ใช้ในสื่อ การควบคุมระบบเสียง รวมไปถึงการบันทึกเสียง โดยภาพรวมความรับผิดชอบทั้งหมดก็คือ การจัดการเสียงให้เหมาะสมตามวัตถุประสงค์ในการฟัง เพื่อให้เสียงมีคุณภาพตามที่ Sound Engineer และผู้ผลิตสื่อต้องการ ซึ่งจะต้องอาศัยความรู้ในด้านเทคนิคและการใช้อุปกรณ์เฉพาะทาง

ทำงาน Sound Engineer ต้องเรียนคณะอะไร

ทำงาน Sound Engineer ต้องเรียนคณะอะไร

การทำงานด้าน Sound Engineer ในประเทศไทยส่วนใหญ่ อาจจะไม่จำเป็นต้องเรียนด้านนั้นมาโดยเฉพาะ เน้นความรู้และประสบการณ์จากการลงมือทำ ซึ่งจะต้องมีพื้นฐานสำคัญเลยก็คือ  มีความสนใจด้านเสียงเป็นชีวิตจิตใจ เข้าใจเรื่องความถี่ของย่านเสียง กระตือรือร้นหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ และเข้าใจในภาษาอังกฤษระดับพออ่านออกเขียนได้ ก็สามารถก้าวเข้ามาในสายอาชีพนี้ได้ แต่ถ้าหากต้องการเสริมความรู้หรือปูพื้นฐานด้าน Sound Engineer ตั้งแต่ต้น เพื่อเปิดรับโอกาสในสายงานที่มากกว่า ในประเทศไทยมีสถาบันการศึกษาเปิดสอนหลักสูตรวุฒิปริญญาตรี ดังนี้ 

  • วิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม (หลักสูตร วศ.บ.) วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สจล.
  • สาขาวิศวกรรมคอนเสิร์ตและมัลติมีเดีย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 
  • สาขาเทคโนโลยีดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • สาขาเทคโนโลยีวิศวกรรมดนตรี วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต

หากอยากต่อยอดด้าน Sound Engineer ในระดับสากล ก็ยังมีสถาบันระดับชั้นนำที่มีความโดดเด่นเฉพาะด้านให้เลือกศึกษาดังนี้

  • SAE Institute ประเทศเยอรมนี เป็นสถาบันการศึกษาด้านดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยหลักสูตรที่เปิดสอนนั้นมีความครอบคลุมทั้งการบันทึกเสียง มิกซ์เสียง และขยายสัญญาณเสียง 
  • Abbey Road Institute ประเทศอังกฤษ เป็นทั้งสตูดิโอและสถาบันที่เด่นในด้านการทำเพลงโดยเฉพาะ เป็นที่ยอมรับจากวงการดนตรีและภาพยนตร์ทั่วโลก มีสาขาในหลายประเทศทั้ง ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ เซาต์แอฟริกา อเมริกา
  • Full Sail University ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นหลักสูตรที่เด่นในการฝึกปฏิบัติจริงในห้องเรียนและในสตูดิโอบันทึกเสียง
  • Berklee College of Music ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดสอนหลักสูตร Sound Engineer ที่เน้นการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ
  • London College of Music ประเทศอังกฤษ เป็นสถาบันที่เด่นทั้งด้านดนตรีและศิลปะการแสดง เน้นการเรียนรู้ในเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม

ตำแหน่งของ Sound Engineer มีอะไรบ้าง

ตำแหน่งงานของ Sound Engineer หลักๆ จะมีการแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ Live Sound Engineer และ Studio Sound Engineer มีหน้าที่ความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน

ตำแหน่ง Live Sound Engineer

เป็นฝ่ายที่รับผิดชอบงานเสียงสำหรับคอนเสิร์ตเป็นหลัก มีตำแหน่งแยกย่อยดังนี้

FOH Engineer หรือ Front of House Engineer

FOH Engineer คือ ตำแหน่งหลักที่คอยควบคุมเสียงทั้งหมดที่ผู้ชมได้ยินจากหน้าเวที (PA System) ต้องมีความสามารถในการปรับแต่งเสียงทั้งนักร้องและเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นให้มีความสมดุล ตามที่ศิลปินต้องการ และที่สำคัญต้องรู้จักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นระหว่างการแสดงสดได้อย่างดีเยี่ยม

Monitor Engineer

Monitor Engineer คือ ตำแหน่งที่คอยควบคุมเสียงของลำโพงหรือ Monitor System บนเวที สามารถมิกซ์เสียงเครื่องดนตรีและเสียงร้องได้ และต้องส่งเสียง Monitor ไปให้นักดนตรีแต่ละคนได้ยินเสียงของตัวเองและเพื่อนร่วมวงได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้เล่นดนตรีอย่างมั่นใจ โดยส่วนใหญ่แล้วทุกคนที่เป็น FOH Engineer จะต้องผ่านการทำหน้าที่นี้มาก่อน

System Engineer

System Engineer คือ ตำแหน่งที่ดูแลภาพรวมของระบบเสียงทั้งหมด ไล่ตั้งแต่ตำแหน่งการวางลำโพง การตั้งค่าอุปกรณ์เสียง การทดสอบเสียง พร้อมทั้งประเมินคุณภาพของเสียงภายในสถานที่แสดงสดให้ได้คุณภาพตามที่ต้องการ และมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างดีเยี่ยม

Sound System Designer

Sound System Designer คือ ผู้ที่วางแผนระบบเสียงทั้งหมดให้เหมาะสมกับสถานที่ต่างๆ มากที่สุด จำเป็นต้องได้ร่วมงานกับสายงานอื่นทั้งวิศวกรโยธา และสถาปนิก ซึ่งจะต้องทำการประเมินพื้นที่ติดตั้งระบบเสียง เข้าใจในข้อจำกัดของสถานที่ เลือกชนิดอุปกรณ์ คำนวณความดัง และความครอบคลุมพื้นที่ของเสียง รวมถึงสร้างแบบจำลองการติดตั้ง

ตำแหน่งของ Sound Enginee (FOH หรือ Front Of House)

Studio Sound Engineer

เป็นฝ่ายที่รับผิดชอบงานเสียงภายในสตูดิโอ ซึ่งจะมีความแตกต่างจากระบบเสียงคอนเสิร์ตอย่างสิ้นเชิง โดยมีตำแหน่งแยกย่อยดังนี้

Recording Engineer

Recording Engineer คือ ตำแหน่งที่รับผิดชอบเรื่ององค์ประกอบการอัดเสียงไล่ตั้งแต่ จัดตำแหน่งการวางไมโครโฟน การตั้งค่าอุปกรณ์บันทึกเสียง และควบคุมเสียงระหว่างการบันทึก ผู้ที่ทำหน้าที่นี้จะต้องมีความรู้ด้านอะคูสติกของสตูดิโอ สามารถเลือกชนิดไมโครโฟนที่เหมาะกับเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ ได้ เข้าใจและรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

Mixing Engineer

Mixing Engineer คือ ตำแหน่งที่รับผิดชอบการมิกซ์เสียงที่ถูกแยกแต่ละแทร็ก (Track) ให้เข้าเป็นเพลงเดียวกัน ต้องมีความเข้าใจในทฤษฎีการมิกซ์เสียง มีเซนส์ทางดนตรีที่แม่นยำ สามารถปรับแต่งระดับเสียง เอฟเฟกต์ ตำแหน่งเสียงในสเตอริโอหรือระบบเสียงรอบทิศทาง เพื่อให้ได้ผลงานที่สอดคล้องต่อความต้องการระหว่างโปรดิวเซอร์และศิลปิน

Mastering Engineer

Mastering Engineer คือ ตำแหน่งที่รับผิดชอบการปรับแต่งเสียงเพลงให้มีความสมดุลและสมบูรณ์ เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการผลิตเพลง ต้องมีความละเอียดรอบคอบ มีประสบการณ์ฟังเพลงหลากหลายแนว สามารถแก้ไขเพิ่มความดัง ความกว้างของเสียง และทำให้ภาพรวมของเพลงมีความไพเราะ

Sound Designer

สำหรับ Sound Designer ใน Studio จะเป็นตำแหน่งที่เน้นไปในงานสายภาพยนตร์ เกม คลิปวิดีโอ ละครเวที เป็นหลัก มีหน้าที่ออกแบบเสียงประกอบ สร้างเอฟเฟกต์เสียงต่างๆ ให้เข้ากับบรรยากาศของเนื้อหาในสื่อดังกล่าว บุคลิกในหน้าที่นี้จะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการดี และเข้าใจหลักการเล่าเรื่อง

เป็น Sound Engineer ทำงานที่ไหนได้บ้าง

การทำงานเป็น Sound Engineer เป็นสายอาชีพที่มีความหลากหลาย ทั้งเนื้องานและสถานที่ในการสร้างสรรผลงาน ขึ้นอยู่กับความถนัดและประสบการณ์ส่วนบุคคล โดยมีลักษณะงานที่น่าสนใจดังนี้

  • สตูดิโอประเภท บันทึกเสียง, พากย์เสียง และทำ Mastering
  • งานแสดงสดหรือคอนเสิร์ต
  • ควบคุมเสียงประกอบหรือปรับแต่งเอฟเฟกต์ในโรงละคร
  • ควบคุมระบบเสียงในสถานที่ต่างๆ เช่น ผับ บาร์ งานอีเวนต์ต่างๆ
  • ควบคุมเสียงตามสถานีโทรทัศน์ และสถานีวิทยุ

สรุปทุกเรื่องเกี่ยวกับ Sound Engineer

สรุปทุกเรื่องเกี่ยวกับ Sound Engineer

รายละเอียดของงานด้าน Sound Engineer นั้นหากมองภาพรวมแล้ว ถือเป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อสายงานบันเทิงเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เพลง ภาพยนตร์ รายการวิทยุ บทละครเวที งานอีเวนต์ และอีกมากมาย หากขาดการใส่ใจเรื่องเสียงก็จะทำให้สื่อบันเทิงต่างๆ ขาดองค์ประกอบสำคัญในการสื่อสารไปเลย ใครที่กำลังสนใจอยากทำงานสาย Sound Engineer ก็ลองพิจารณาข้อมูลทั้งหมดที่ได้กล่าวไปว่าคุณสามารถต่อยอดความสนใจให้เป็นอาชีพหลักได้มากน้อยแค่ไหน