“คอนเสิร์ต” เป็นงานบันเทิงรูปแบบหนึ่งที่ทำให้ผู้ชมได้เพลิดเพลินไปกับเสียงดนตรีเพราะ ๆ จากศิลปินคนโปรด เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์ทางดนตรีที่ไม่มีอะไรมาทดแทนได้เลย แต่เคยสงสัยกันไหมว่า กว่าจะเป็นหนึ่งคอนเสิร์ตให้เราได้ชมนั้น ระบบเสียงคอนเสิร์ตเป็นอย่างไร? ประกอบด้วยอุปกรณ์อะไรบ้าง? วันนี้เราจึงจะพาไปเจาะลึกเบื้องหลังระบบเสียงคอนเสิร์ต ไขข้อสงสัยแบบหมดเปลือกว่าเสียงเพลงคมชัดที่เราได้ยินนั้น ต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง? คอดนตรีหรือคอคอนเสิร์ตห้ามพลาด!
ระบบเสียงคอนเสิร์ตมีอะไรบ้าง
ระบบเสียงคอนเสิร์ตมีอุปกรณ์พื้นฐานอยู่ 7 อย่างด้วยกัน ดังนี้
1. ไมโครโฟน (Microphone)
ไมโครโฟน อุปกรณ์สำคัญสำหรับระบบเสียงคอนเสิร์ต ใช้ในการดำเนินงานตั้งแต่ต้นจนจบ โดยไมค์ที่ใช้ในคอนเสิร์ตจะมี 2 ประเภทด้วยกัน คือ ไมค์ร้อง/พูดสำหรับนักร้องและพิธีกร และไมค์สำหรับจ่อเครื่องดนตรี กรณีคอนเสิร์ตใช้ดนตรีสด ซึ่งปัจจุบันก็มีไมค์เสียงดีให้เลือกมากมายทั้งแบบคอนเดนเซอร์และแบบไดนามิก รวมทั้งไมค์แบบมีสายและไมค์แบบไร้สาย โดยสามารถเลือกใช้ให้ตอบโจทย์การใช้งาน
2. เครื่องมีเดียเพลเยอร์
นอกจากแหล่งกำเนิดเสียงอย่างไมโครโฟนแล้ว ระบบเสียงคอนเสิร์ตบางงานอาจจะมีเครื่องมีเดียเพลเยอร์สำหรับเปิดเพลงเพื่อทดสอบระบบ หรือเปิด Backing Track เช่น เครื่องเล่น CD, DVD หรือ MP3 Player หรือ Hardisk player เป็นต้น
3. มิกเซอร์ (Mixer)
มิกเซอร์ หรือเครื่องผสมสัญญาณเสียง ทำหน้าที่ผสมสัญญาณเสียงให้เป็นไปตามผู้ควบคุมเสียง มิกเซอร์ที่ใช้ในปัจจุบันมีทั้งมิกเซอร์ดิจิทัล (Digital Mixer) และมิกเซอร์แอนะล็อก (Analog Mixer) โดยมิกเซอร์ดิจิทัลจะมีอุปกรณ์ด้านการปรับเสียงอยู่ภายใน เช่น Equalizer, Compressor และ Crossover ลดทอนความยุ่งยากในการติดตั้งอุปกรณ์ เหมาะสำหรับระบบเสียงคอนเสิร์ตที่มีความซับซ้อน ส่วนมิกเซอร์แอนะล็อกจะต้องเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ปรับเสียงหลายอย่าง เหมาะกับระบบเสียงที่ไม่ต้องการความซับซ้อนมาก เช่น งานพูด งานขายของ
ทั้งนี้การเลือกมิกเซอร์ขึ้นอยู่กับจำนวนช่อง (Channel) ว่าเพียงพอในการใช้งานหรือไม่ หากเป็นระบบเสียงคอนเสิร์ตที่มีช่องสัญญาณขาเข้าจำนวนมาก เช่น ใช้ไมโครโฟนรวมเครื่องเล่นเครื่องดนตรี 12 ชิ้น แนะนำให้เลือกมิกเซอร์ที่รองรับช่องสัญญาณขาเข้ามากกว่า 18 ช่องเป็นอย่างน้อย
4. เครื่องควบคุมย่านความถี่เสียง (Equalizer)
เครื่องควบคุมย่านความถี่เสียง หรืออีควอไลเซอร์ เป็นอุปกรณ์จัดการสัญญาณเสียงที่ออกมาจากมิกเซอร์ ทำหน้าที่ควบคุมและชดเชยความถี่เสียงให้อยู่ในระดับสัญญาณที่เหมาะสม ถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบเสียงคอนเสิร์ต เพราะหากขาดไปอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน เช่น เกิดอาการหอน (Feedback) ของลำโพง เป็นต้น
5. เครื่องปรับแยกความถี่สัญญาณเสียง (Crossover)
เครื่องปรับแยกความถี่สัญญาณเสียง หรือครอสโอเวอร์ ทำหน้าที่แบ่งแยกความถี่เสียงให้เหมาะสมกับพาวเวอร์แอมป์และลำโพง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของลำโพง โดยจะมีทั้งลำโพงเสียงต่ำ (Low) กลาง (Mid) และแหลม (Hi)
ปัจจุบันมี Digital Signal Processor (DSP) ที่รวมเครื่องปรับแต่งสัญญาณเสียงไว้ด้วยกัน เช่น Equalizer, Crossover หรือเครื่องควบคุมระดับสัญญาณเสียงอื่น ๆ (Compressor/Expander/Gate/limiter) ช่วยลดการติดตั้งอุปกรณ์จำนวนมากในอดีตให้เหลือแค่เพียง DSP เท่านั้น
6. เครื่องขยายเสียง (Power Amp)
เครื่องขยายเสียง หรือเพาเวอร์แอมป์ ทำหน้าที่ขยายเสียงในขั้นตอนสุดท้าย ให้สัญญาณขาออกสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัญญาณขาเข้าก่อนส่งต่อไปยังลำโพง เพื่อส่งออกเสียงต่อไป
7. ลำโพง (Speaker)
ลำโพง เป็นอุปกรณ์สุดท้ายในระบบเสียงคอนเสิร์ต ทำหน้าที่รับสัญญาณจากเพาเวอร์แอมป์และกระจายออกมาเป็นเสียงให้เราได้ยินนั่นเอง โดยการเลือกใช้ลำโพงก็ขึ้นอยู่กับลักษณะงาน ถ้าเป็นระบบเสียงคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ต้องเลือกลำโพงที่มีความดังเพื่อต่อสู้กับเสียงรบกวนภายนอก และสามารถกระจายเสียงครอบคลุมทั่วพื้นที่ได้
หลักการทำงานของระบบเสียงคอนเสิร์ต
การทำงานของระบบเสียงคอนเสิร์ตจะมีหลักการพื้นฐานเดียวกับระบบเครื่องเสียงทั่วไป โดยแบ่งออกเป็น 3 ภาค ดังนี้ ภาคอินพุต (Input) > ภาคโปรเซสเซอร์ (Processor) > ภาคเอาต์พุต (Output)
- ภาคอินพุต (Input) เป็นส่วนแรกที่รับเสียงเข้ามาในระบบหรือที่เราเรียกว่าสัญญาณขาเข้า ซึ่งการรับเสียงจะมาจากแหล่งกำเนิดเสียงต่าง ๆ เช่น เสียงจากไมโครโฟน เสียงจากเครื่องดนตรี หรือเสียงจากเครื่องมีเดียเพลเยอร์ เป็นต้น
- ภาคโปรเซสเซอร์ (Processor) เมื่อรับสัญญาณเสียงเข้ามาแล้วจะนำมาปรับแต่งความสมดุลในภาคโปรเซสเซอร์หรือภาคประมวลผล โดยทั่วไปการปรับแต่งเสียงจะประกอบไปด้วย Mixer, Equalizer, Crossover เป็นต้น
- ภาคเอาต์พุต (Output) เป็นส่วนสุดท้ายของระบบเสียงคอนเสิร์ต โดยจะรับสัญญาณเสียงที่ปรับแต่งแล้วมาขยายเสียงด้วยเพาเวอร์แอมป์ และส่งต่อสัญญาณไปยังลำโพงหรือที่เราเรียกว่าสัญญาณขาออกนั่นเอง
ระบบเสียงคอนเสิร์ตต่างจากระบบเสียงทั่วไปอย่างไร
- ความดังของเสียง ระบบเสียงคอนเสิร์ตต้องมีความดังเพียงพอ เพื่อให้เสียงของดนตรีสามารถครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่และสามารถสู้กับเสียงรบกวนจากภายนอกได้ รวมถึงเสียงของผู้ชมภายในงาน ในกรณีที่มีการส่งเสียงกรี๊ด เสียงโห่ หรือเสียงร้องเพลงไปพร้อมกับโชว์ โดยทั่วไประบบเสียงคอนเสิร์ตจะต้องรองรับความดังได้มากกว่า 100 dB SPL ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับแนวดนตรีนั้นๆ
- มิติเสียง ระบบเสียงคอนเสิร์ตต้องสามารถถ่ายทอดมิติเสียงของดนตรีได้ครบถ้วน โดยอาศัยเทคนิคต่างๆ เช่น การกระจายเสียงแบบสเตอริโอ การแบ่งสัญญาณเสียงไปยังลำโพงหลายชุด รวมถึงการกระจายเสียงแบบรอบทิศทาง เป็นต้น
- คุณภาพเสียง ระบบเสียงคอนเสิร์ตต้องสามารถถ่ายทอดเสียงที่มีรายละเอียดสูง ไร้เสียงรบกวน เช่น เสียงจี่ เสียงฮัม เสียงแตก และต้องมีความชัดเจน ซึ่งจะต้องอาศัยอุปกรณ์ที่มีคุณภาพสูง สอดคล้องกับสเกลงานคอนเสิร์ต
เป็นอย่างไรกันบ้างกับความรู้เกี่ยวกับระบบเสียงคอนเสิร์ตที่เรานำมาฝากกัน หวังว่าหลายคนจะเห็นภาพชัดขึ้นว่าคอนเสิร์ตมากมายที่จัดกันทุกวันนี้มีระบบการทำงานอย่างไร? มีอุปกรณ์เครื่องเสียงอะไรบ้าง? ซึ่งนอกจากอุปกรณ์หลัก ๆ ที่เราหยิบยกมายังมีอุปกรณ์อีกมากมายที่ทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้เสียงคุณภาพที่สุด โดยหลักการสำคัญในการเลือกเครื่องเสียง คือ เลือกเครื่องเสียงที่มีคุณภาพดีและเหมาะสมกับรูปแบบงาน เพื่อกระจายเสียงที่ดีให้แก่ผู้ชมในคอนเสิร์ต
หากใครที่สนใจติดตั้งระบบเสียงคอนเสิร์ตหรือระบบเสียงงานอื่น ๆ Fuzion Far East มีบริการออกแบบและติดตั้งระบบเสียงโดยทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการติดตั้งระบบเสียงโดยเฉพาะ พร้อมดูแลคุณตั้งแต่ให้คำปรึกษาทั้งก่อนและหลังการขาย ให้บริการครบวงจรในที่เดียว